เทคนิคถ่ายภาพอาหาร : แบบอยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด
โพสต์นี้ จะมาแชร์เทคนิคการถ่ายภาพอาหารแบบไม่ต้องจัดไฟ ไม่ต้องใช้ขาตั้ง ไม่เน้นอุปกรณ์ ถ่ายกันง่ายๆ ถ่ายกันตามมีตามเกิด แต่ด้วยความต้องการให้ภาพมันสวย เราจะหาทางดิ้นรนจนมันออกมาดูดีให้ได้ฮะ
อืมมมมมม…เกริ่นซะใหญ่โต เอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพอาหารขนาดนั้น
แต่เนื่องจากว่า แฟนเป็น Food Blogger @Food.barnbarn เลยทำให้มีโอกาสได้ช่วยแฟนถ่ายรูปอาหารอยู่บ้าง เพราะเธอต้องเอาไปลง IG เธอ และหน้าที่ตากล้องก็มักตกเป็นของผมโดยปริยาย
เทคนิคที่จะเอาเล่าให้ฟังวันนี้ เป็นเทคนิคที่โคดบ้าน โคดเบสิก พี่ๆ ที่เชี่ยวชาญแล้ว โปรดข้ามไปเลยครับ บางอันมันดูจะติงต๊อง มากเกินกว่าชาวบ้านเค้าจะทำกัน
มาเข้าเรื่องกันเลยครับ
01
//กล้อง & เลนส์
จริงๆ แล้วถ่ายอาหาร กล้อง, เลนส์อะไร ก็ถ่ายได้หมดครับ มือถือเดี๋ยวนี้ มีเลนส์ Tele ละลายหลังได้แล้ว สบายบรื๋อ จะขอเขียนถึงระยะเลนส์ ที่มีผลต่อภาพแล้วกันนะครับ
28 mm. — 35 mm.
ถือว่าเป็นเลนส์ไวด์ หรือเลนส์มุมกว้าง เหมาะมากๆ กับการถ่าย Flat Lay หรือถ่ายกดจากด้านบน เพราะมันเก็บภาพอาหารได้เต็มโต๊ะดี โดยที่เราไม่ต้องถึงกับยืนบนโต๊ะถ่าย แค่ยืดแขนหน่อย ก็ถ่ายได้แล้วครับ
หรือจะเอาไว้ถ่าย Environmental Food Photography หรือการถ่ายภาพอาหารแบบไม่ได้เจาะจงแค่ตัวอาหารในจาน แต่เก็บบรรยากาศเรื่องราวรอบๆ จานไว้ด้วย เช่น อาจเป็นบรรยากาศเพื่อนๆ กินอาหารจานนั้นบนโต๊ะ, กำลังตักเข้าปาก, หรือเชฟกำลังยกมาเสิร์ฟ ระยะ 28–35 mm. นี่ทำหน้าที่นี้ได้เยี่ยมมากๆ ครับ
50 mm.
เป็นระยะควรมีสำหรับการถ่ายอาหาร ยิ่งได้ Fixed Lens f1.4 จะยอดเยี่ยมมากครับเพราะละลายหลังได้ดีงาม จุดที่เข้าโฟกัส ก็คมได้ใจ จะถ่ายแบบ ยิงเข้าตรงๆ, 45 องศา, หรือ Flat Lay ก็ได้หมด แต่อาจต้องขึ้นเก้าอี้ถ่ายนิดนึงครับ
85 mm. ขึ้นไป
เป็นระยะที่น่าสนใจมากครับ เพราะยิ่งเลนส์ Tele ทุกอย่างก็ยิ่งดูใหญ่ยักษ์ขึ้น
ลองคิดว่า อาหารในจานก็เหมือนกับนางแบบน่ารักๆ ซักคน ยิ่งเห็นใกล้ๆ ก็ยิ่งดูดีเลนส์ระยะ 85mm. จะช่วยทำให้อาหารโดดเด่นมากๆ แบบ นี่…เอาไปดูเต็มๆ ตานะพี่จ๋า
ด้านล่างคือน้ำแก้วเดียวกัน เปลี่ยนจากระยะเลนส์ 50mm เป็น 90mm กล้องตั้งที่เดิม ลองดูความแตกต่างนะครับ
02
//Location : ถ่ายที่ร้าน
• โปรดนั่งริมหน้าต่าง
ถ้าเลือกได้ อยากให้โต๊ะนั่งริมหน้าต่างครับ เพราะเราจะได้แสงธรรมชาติมาเต็มๆ
แถมปริมาณแสงจะมากกว่าโต๊ะกลางร้านเยอะเลยครับ จริงๆ นั่งโต๊ะกลางร้าน ก็ถ่ายได้นะครับ แต่เราอาจเล่นกับแสงธรรมชาติได้ยากหน่อย
ถ้าเป็นไปได้ อยากให้ไปมื้อเช้า มื้อเที่ยง หรือมื้อบ่ายครับ เพราะแสงมันจะเข้ามาในร้านเยอะ
• ทิชชู่ คือ รีเฟล็ก
ใช่ครับ กระดาษทิชชู่ กระดาษเช็ดปาก ผ้าเช็ดปากสีขาวผืนใหญ่ๆ ที่วางบนโต๊ะนั่นแหละ คือ Reflex ชั้นดี เราสามารถใช้มันช่วย Bounce แสง เปิดเงาให้ Subject ได้ครับ
ผมเคยฮะ เคยใช้รีเฟล็กพกพา พับแล้วแผ่นมันจะกลมๆ เล็กๆ ซักสิบนิ้วได้
พอกางออกมาเท่านั้นแหละ หูย เอิกเกริก มองกันทั้งร้าน
พอเปลี่ยนมาใช้กระดาษเช็ดปากเป็นรีเฟล็ก คนก็มองน้อยลงครับ เหลือแค่โต๊ะข้างๆ มองเราแปลกๆ ว่าเล่นอะไรกันวะ
วิธีใช้ : ไม่ว่าอย่างไร ขอให้เอาโต๊ะริมหน้าต่างไว้ให้ได้ครับ เพราะตรงนั้น ปริมาณแสงจะโอเคสุดแล้ว
วิธีถือตำแหน่งทิชชู่ดังนี้ครับ
1. หน้าต่างอยู่หลังจาน กระดาษทิชชู่ อยู่ระหว่างจาน กับกล้อง
2. หน้าต่างอยู่ข้างซ้ายจาน กระดาษทิชชู่ อยู่ขวากล้อง
• เสิร์ฟพร้อมกันเถิด
เวลาสั่งอาหารมา ปกติแล้วอาหารจะทยอยออกมาครัวทีละจาน สองจาน
มันทำให้เราถ่ายอาหารต่างๆ แบบดูหรอมแหรมมากครับ
และบางที เมื่อความหิวเข้าครอบงำ กว่าจานสามจะมา จานแรกก็ลงท้องหมดแล้ว
บอกพนักงานไปเลยครับว่า ขอให้อาหารเสิร์ฟออกมาพร้อมกันเถิด พลีสสสส
• ร้านมืด..ก็พอถ่ายได้
ถ้ามื้อนั้นเป็นมื้อเย็น ไม่มีแสงจากหน้าต่าง มีแต่ไฟร้านลงหัวล่ะครับ??
…อยู่ที่เรียนรู้วววว อยู่ที่ยอมรับมัน
อยู่กับสิ่งที่มี ไม่ใช่สิ่งที่ฝัน
และทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด…
ครับ ผมขอน้อมนำคำสอนของพี่บอย โกฯ มา ณ ที่นี้ เราต้องอยู่กับแสงที่มีนี่แหละครับมืด ก็มืดครับ ไฟกลางหัว ก็ไฟกลางหัว ลองถ่ายมาก่อนครับ
อาจได้อาหารที่ดูมีพลังงานบางอย่าง ก็ เป็น ได้
ส่วนมากร้านอาหารเวลากลางคืน หรือร้านกลางวันแต่ไม่มีหน้าต่าง แสงจะเป็นหลอดไฟ ตกมาจากด้านบน ทำให้เงาของอาหารดูเข้มๆ ตึ้บๆ เกินงาม เงาของจานจะหนักไปอยู่ทางด้านล่าง
แสงแข็งๆ แบบนี้ ก็แอบมีข้อดีคือ รูปออกมาจะดูเรียลมากๆ คือ เห็นยังไง ก็ถ่ายมาแบบนั้น แต่เพื่อให้รูปไม่เรียลเกินไป เราอาจลองบิดมุมกล้อง หนีแสงสะท้อน และเงาทึบต่างๆ เท่าที่พอจะทำได้ครับ หากบิดมุมแล้วยังไม่ได้ ก็ทำใจ ถ่ายไปก่อนครับ ดีกว่ากลับบ้านไปแบบไม่มีรูป
03
//Location : ถ่ายที่บ้าน
เนื่องเป็นบ้านเราเอง เราจะยกจานไปถ่ายมุมไหน หาแสงแบบไหน มันก็เรื่องของเราเลยครับ อิสระเสรี โดดขึ้นไปถ่ายบนโต๊ะก็ไม่มีใครมองว่าบ้า เรามาดูเทคนิคเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้กันครับ
• แสงตรงไหนดีสุดในบ้าน?
ลานหน้าบ้านครับ ตรงที่มีหลังคา แต่แสงสาดเข้ามาถึง
เพราะตรงนั้นอยู่ใต้ร่มก็จริง แต่แสงเวลาเช้าๆ หรือ ช่วงเย็น
มันจะลอดเข้ามา แล้วเราจะสามารถวางจานอาหาร ไปเล่นกับแสงได้เลยครับ
หรือถ้าห้องกินข้าวมีหน้าต่างบานใหญ่อยู่ใกล้โต๊ะก็แจ๋วเลยครับ
เพราะทุกมื้อเช้า มื้อเที่ยง มื้อบ่าย คือโอกาสการถ่ายรูปอาหารของเราครับ
เอาจริงๆ ห้องนอนก็ถ่ายได้นะ ชอบเห็นตาม IG ฝรั่ง แบบ breakfast on bed ไรงี้
04
//มุมกล้อง
• Front View : ยิงเข้าไปตรงๆ
เล็งตรงๆ แบบไม่อ้อมค้อม เหมาะกับอาหารที่ดูด้านข้าง แล้วยังดูรู้เรื่องอยู่ว่าเป็นอะไร เช่น น้ำสีสวยต่างๆ, สลัดในชามใส, ผลไม้ หรืออาหารในจานแบนๆ แต่ถ้าเป็นพวกซุป หรืออาหารที่อยู่ในชาม จะมองเห็นแต่ชาม ไม่รู้ว่าอาหารคืออะไรนะอ้อ
• 45 Degree : ยิงเฉียง 45
มุมคลาสิกยอดนิยมตลอดกาล คือไม่ถ่ายมุมอื่นได้ แต่ควรถ่ายมุมนี้ไว้ มันช่าง bon appetit จริงๆ
• Flat Lay : ขึ้นโต๊ะแล้วยิงจากด้านบน
วางทุกอย่าง ให้อยู่บนโต๊ะ แล้วปีนเก้าอี้ถ่ายกดลงมาเลยครับ
ใช่ครับ อารมณ์เหมือนอยู่ร้านแล้วแล้วปีนโต๊ะเต้นนั่นแหละครับ เด่นประมาณนั้นเลย
รูปจะดูพิเศษขึ้น ยิ่งมื้อนั้น อาหารเต็มโต๊ะ มันจะดูแบบ ว๊าวววว ชีวิตดีจังโว้ย
• POV : ในมือเรามีอะไร
มือซ้ายถืออาหาร มือขวาถ่ายครับ อาจใช้ background ช่วยเล่าเรื่อง เล่าบรรยากาศ ว่าเราอยู่ที่ไหน เพิ่มความน่าสนใจครับ
05
//ทบทวนกันอีกครั้งนะครับ
ที่ร้าน
• นั่งริมหน้าต่าง แสงที่เพียงพอ สำคัญที่สุดครับ
• ใช้ Reflect จากของใกล้มือ เช่น กระดาษทิชชู่ ผ้าเช็ดปาก หรือกระดาษ A4 ก็ยังได้ครับ
• มืดก็ถ่ายได้ ลองเล่นกับไฟในร้าน บิดมุมหนีแสงสะท้อนดู
ที่บ้าน
• ใต้ลานบ้าน แสงจะดี
• โต๊ะกินข้าว ริมหน้าต่างก็น่าสนใจ
• บ้านเรา อยากทำไรทำครับ
มุมกล้อง
• Front View
• มุม 45 องศา ใกล้เคียงสายตาคนกิน
• Flat Lay ถ่ายจากมุมบน แบนๆ
• ยกถือดื้อๆ POV หลังละลาย ช่วยให้อาหารน่ากิน
จบแต่เพียงเท่านี้ครับ ลากันด้วยภาพอาหารอีกเล็กน้อย แล้วพบกันใหม่ครับ