Rangefinder Focusing 101 ถ่ายรูปกล้องเร้นจ์ไฟเดอร์ให้ชัดกันเด้อออ..
สวัสดีครับ…ถ้าคุณถ่ายรูปด้วยกล้องเร้นจ์ไฟเดอร์ แล้วชัดบ้าง ไม่ชัดบ้าง ถ่ายฟิล์มไปทั้งม้วน ล้างออกมา
หน้าเบลอ หลังชัดหมดเลย ลองมาดูเทคนิควิธีถ่ายรูปให้ชัด ด้วยกล้อง Rangefinder กันนะครับ
ปล. ออกตัวก่อนนิดนึงว่า ผมไม่ใช่ตากล้องโปร ที่ใช้กล้อง Rangefinder ทำมาหากิน เป็นแค่คนที่ชอบถ่ายรูป และมีโอกาสถ่ายด้วยกล้อง Rangefinder มาบ้างนะครับ :)
—
เล่าสั้นๆ เกี่ยวเจ้ากล้อง Rangefinder นิดนึงนะครับ
กล้อง Rangefinder หรือบางทีก็เรียกว่า Telemeters (เพิ่งเคยได้ยินใช่มั้ยฮะ? ถ้าผมไม่เปิด wiki ก็จะไม่เคยได้ยินเช่นกันครับ) เป็นกล้องในศตวรรษที่ยี่สิบครับ กล้อง Rangefinder ตัวแรกที่ทำขาย คือกล้อง 3A Kodak Autograph Special, ในปี 1916 เปิดตัวที่ราคา 109.5USD ในปีนั้น ซึ่งน่าจะประมาณ 2,200USD ในปี 2020 ครับ
แต่กล้องที่ทำให้กล้อง Rangefinder เป็นที่ฮิตจริงๆ ไม่ใช่เจ้ากล้อง 3A Kodak นี่หรอกครับ มันคือกล้อง Leica I ในปี 1952 ตะหาก แล้วหลังจากนั้น Leica II, Contax II, Nikon SP, Nikon S3 และอื่นๆ อีกมากก็ตามออกมาเป็นขโยงครับ
—
วิธีทำงานของกล้อง Rangefinder ในการโฟกัสเป็นดังนี้ฮะ
มันจะมีสี่เหลี่ยมเล็กๆ 2 อันใน view finder (ช่องมองภาพ) สมมติว่าเราจะถ่ายรูปแฟนเรา เราก็ยกกล้องขึ้นมาเล็งที่ลูกกะตาแฟน แล้วค่อยๆ หมุนโฟกัสที่ตัวเลนส์ จนกว่าสี่เหลี่ยม 2 อันนั้น มันจะมาซ้อนทับกันพอดีที่ลูกตาเค้า นั่นแหละฮะ ถ่ายแฟนออกมาก็จะชัดที่ตาสวยงาม
“ห๊ะ! มือหมุนเอาล้วนๆ เอ่อ มันไม่มีแบบ กดปิ๊ป! ถ่าย! กดปิ๊ป! ถ่าย! หรอไงฟะ?? กล้องอะไรถ่ายยากฉิบเป๋ง”
เพื่อนในจินตนาการผมคนหนึ่งได้ยินแล้วตั้งคำถาม
คำตอบคือ ไม่มีครับ…กล้อง Rangefinder นี่ถือว่าปราณีคนถ่ายมากแล้ว ถ้าเทียบกับกล้องกะระยะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีในยุคก่อนหน้า (เวลาใช้คำว่าเทคโนโลยี รู้สึกว่าต้องไฮเทคเนอะ แต่อันนี้เชยระเบิด) เพราะเจ้ากล้องกะระยะนี่คือ กะเอาตามชื่อจริงๆ ครับ ตากล้องต้องกะด้วยความแม่นยำ (หรออออ!?) เอาเองว่า สิ่งที่จะถ่ายอยู่ห่างจากตัวกล้องกี่เมตร โหดจัด
ฟังแล้วท้อ ผมก็ท้อครับ ตอนหัดถ่ายใหม่ๆ อัตรารูปชัด ต่อรูปเบลอ นี่คือ 20:80
เบลอว่ารักแถบมากๆ ไม่เชื่อชมรูปตัวอย่างฮะ
—
เข้าเรื่องซะที ต่อไปนี้คือวิธีที่จะทำให้คุณถ่ายรูปด้วยกล้อง Rangefinder ได้แม่นขึ้น ชัดขึ้น นะครับ
1. อยากถ่ายหน้าชัด หลังเบลอ — เผื่อระยะไว้ก่อนเลย
“อ้าว! ไหนบอกเป็นกล้อง Rangefinder ไม่ใช่กล้องกะระยะ จะมาให้เผื่ออะไร เดี๋ยวปั๊ดดดด!!”
เพื่อนในจินตนาการผมโวยอีกรอบ
ครับ ใจเย็นครับพี่ครับ คือถ้าพี่เผื่อระยะไว้ก่อน ชีวิตพี่จะง่ายครับ
• เอาแบบนี้ ถ้าพี่รู้ความยาวแขนพี่ก่อนจะดีครับ เช่น แขนพี่ยาว 75 cm.
• แล้วแบบอยู่ห่างจากพี่ประมาณ 1 ช่วงแขนพี่
• พี่ก็หมุนเลนส์ไปที่ระยะประมาณ 0.7 m. รอได้เลยครับ
• เสร็จปุ๊ป พี่ก็ยกกล้องขึ้นมาเล็ง แล้วสะกิดโฟกัสอีกนิดหน่อย ให้สี่เหลี่ยมมันทับกันพอดีเป๊ะๆ ครับ
ถ้าทำแบบนี้ มันจะเร็วกว่าการที่จู่ๆ เรายกกล้องขึ้นมาถ่ายเลย แล้วต้องหมุนโฟกัสจากตรงไหนก็ไม่รู้ ไม่รู้ว่าไกลไป หรือใกล้ไป ก็จะทำให้เสียเวลาหมุนหาสี่เหลี่ยม 2 อันนั้นมากๆ ครับ
วิธีนี้ถ้าอยากจะหน้าชัด หลังเบลอ เปิด f. Stop กว้างๆ ได้นะครับ แต่ต้องชัวร์ว่าหมุนเข้าที่ตาแล้วจริงๆ ฮะ
2. ถ่ายยังไงให้ชัดทั้งหน้าชัดทั้งหลัง — เล็งระยะ + เปิด f. แคบๆ (Hyperfocal Distance)
“เฮ้ย! มันจะได้หรอ สี่เหลี่ยมนั่นมันชัดได้แค่จุดเดียว มันจะไปชัดหน้า ชัดหลังได้ไง โว๊ะ!” เพื่อนในจินตนาการผมยังตามมาหลอน
ได้สิครับพี่ ถ่ายได้ สมมติว่าพี่อยากจะถ่ายรูปหมู่ซ้อน 3 แถว แล้วอยากให้ชัดทั้งหมด แค่พี่ลองแบบนี้นะครับ
• หมุน f. Stop ไปซัก 5.6 หรือ 8 ไปเลยเพื่อคุมให้ระยะชัดมันลึกขึ้น
• กะระยะนิดนึงว่าแถวกลางห่างจากพี่กี่เมตร สมมติว่า 2 เมตร
• พี่ก็หมุนเลนส์ไปที่ 2 เมตร แล้วดูที่ depth of field scale หรือตัวเลขบนเลนส์พี่นะคับมันจะบอกว่าถ้า focus ที่ระยะ 2 เมตร แล้วเปิด f.8 ระยะชัดมันจะกี่เมตรถึงกี่เมตร
อันนี้ตัวอย่างคือเลนส์ Voigtlander 35mm. 1.4 มันจะชัดตั้งแต่ประมาณ 1.4–4 เมตร ซึ่งถือว่าชัดลึกมากพอที่จะคลุมคนทั้ง 3 แถวให้ชัดหมดแล้วครับ
• ทีนี้ยกกล้องขึ้นมาเล็ง แล้วถ่ายได้เลยครับ หรือจะสะกิดโฟกัสเบาๆ ให้เข้าตาแบบแถวกลางเป๊ะๆ อีกทีก็ยังได้
3. ไม่อยากหมุนเอง แต่อยากถ่ายแล้วชัดตรงนั้นไปเลย — กะระยะก่อน แล้วโยกตัวเบาๆ เลยจ้า
“อะไรนะ! นี่กะจะให้หมุนมือตลอดเลยหรอ ยากเกินไปแล้วเฟ้ย!?!”
เพื่อนในจินตนาการผมไม่ยอมหยุดหย่อน
เทคนิคสุดท้ายของวันนี้ จะว่า advance ก็ใช่ แต่จะว่ามันง๊ายง่าย ก็ใช่เช่นกันครับ
ยิ่งถ้าเรากำลังถ่ายวัตถุใดๆ ที่อยู่นิ่งมากๆ แบบมากๆ แล้วหมุนโฟกัสที่เลนส์ยังไง ก็เคลื่อนอยู่ดี เพราะตัวเราเองเนี่ยแหละครับที่เคลื่อนไปมา
วิธีก็คือ แทนที่เราจะไปหมุนโฟกัสที่เลนส์ ให้เรามาหมุนโฟกัสที่ตัวเราเองครับ!
ลองแบบนี้นะครับ
• กะระยะว่าแบบอยู่ห่างจากเราแค่ไหน สมมติถ่ายโถส้วม ห่างจากเรา 1 เมตร อยากให้ชัดตรงที่กดชักโครกพอ ก็หมุนไปเลยครับ 1 เมตร
• ยกกล้องขึ้นมาเล็งให้สี่เหลี่ยมมาซ้อนกันพอดีที่ที่กด…แต่! คราวนี้ไม่ต้องไปยุ่งอะไรกับโฟกัสที่เลนส์อีกแล้วครับ ให้เราค่อยๆ โยกตัวไปข้างหน้า หรือถอยหลัง นิดเดียว เพื่อเลี้ยงให้สี่เหลี่ยม 2 อันมันซ้อนกันพอดีให้ได้ครับ จากนั้นก็กดถ่ายได้เลย
เทคนิคนี้ แม้จะเปิด f กว้างสุด แต่ถ้าฝึกจนคล่อง ประสิทธิภาพการโฟกัสเข้าถือว่าสูงมากๆ ครับ
4. อยากถ่ายสตรีทให้ชัดๆ ทั้งภาพไปเลยอ่ะ — f.8 หรือ f.11 สิครับ
อันนี้เป็นวิธีตั้งค่ากล้อง ที่ตากล้องสตรีทนิยมใช้กันมากครับ เพราะมันจะไม่เสียเวลาหมุนโฟกัสอีกเลย
• เริ่มจาก เลือกระยะ ที่เราอยากจากถ่าย คร่าวๆ ว่า 2 เมตร หรือ 5 เมตรก็ได้
• จากนั้นปรับ speed shutter ซัก 1/500 อาจมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับฟิล์ม และความแรงของแดดขณะที่จะถ่ายด้วยครับ
• ทีนี้ดู depth of field scale เลนส์ตัวเองอีกครั้งว่า f.11 มันจะชัดตั้งแต่กี่เมตร ถึงกี่เมตร
เช่น ถ้าหมุน focus ไว้ที่ 2 เมตร f.11 มันจะชัดตั้งแต่ 1.2–5 เมตร
หรือถ้าอยากจะชัดลึกไปถึงอินฟินิตี้เลย ก็ลองหมุน focus ไปที่ 5 เมตร อะไรแบบนี้ครับ
ถ้าอ่านแล้วยังงงๆ ลองดูคลิปนี้ประกอบความงง เอ๊ย! ความเข้าใจกันได้ครับ
https://www.youtube.com/watch?v=1N2zezYTLHg
—
เล็กๆ น้อยๆ ก่อนจาก
อย่า-ลืม-เปิด-ฝา-เลนส์!!
เนื่องจากกล้อง Rangefinder มันจะไม่โชว์ภาพผ่านเลนส์ แต่จะเห็นผ่าน view finder เท่านั้น ถ่ายมืดยกม้วนก็เป็นกันมาแล้ว ดังนั้นอย่าลืมเปิดฝาเลนส์ก่อนถ้านะครับ
—
ถ้าชอบบทความดีๆ ก็ฝากกดแชร์ กด follow por et more ไว้ในอ้อมใจ
ขอบคุณสำหรับการติดตาม จนกว่าจะพบกันใหม่ครับ ❤
ลากันไปด้วยภาพจากกล้อง Rangefinder อีกเล็กน้อยครับ